วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา

สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา 

สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 7 หรือ พระศรีสุธรรมราชาธิราช เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 26 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ลำดับที่ 3 แห่งราชวงศ์ปราสาททอง (ครองราชย์ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2199 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2199) พระองค์เป็นพระอนุชาของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยบางแห่งกล่าวว่าเป็นบุตรของมหาดเล็ก พี่ชายของนางอิน พระมารดาของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง  

พระราชประวัติ

สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาเป็นพระอนุชาของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยานั้น สมเด็จพระเจ้าปราสาททองตรัสว่า "น้องเราคนนี้น้ำใจกักขชะหยาบช้า มิได้มีหิริโอตัปปะ จะให้เป็นอุปราชรักษาแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณมิได้ ให้เป็นแต่เจ้าพระ ชื่อ พระศรีสุธรรมราชา" พร้อมกันนี้โปรดให้พระศรีสุธรรมราชาตั้งบ้านหลวงอยู่ที่ริมวัดสุทธาวาส 

การขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์

ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เจ้าฟ้าไชย พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากพระราชบิดา แต่สมเด็จเจ้าฟ้าไชยทรงครองราชย์ได้ไม่นาน พระศรีสุธรรมราชา พระปิตุลา และพระนารายณ์ พระราชนัดดาของพระองค์ ก็สมคบคิดกันชิงราชบัลลังก์ เมื่อถึงวันตามที่ทั้งสองพระองค์ตกลงกันแล้ว พระนารายณ์ได้พาพระราชกัลยาณี พระขนิษฐาในพระองค์ลอบหนีออกจากพระราชวังทางประตูตัดสระแก้วเพื่อเสด็จไปหาพระศรีสุธรรมราชา หลังจากนั้น พระศรีสุธรรมราชาและพระนารายณ์จึงได้ยกกำลังพลเข้ามาในพระราชวัง จับกุมสมเด็จเจ้าฟ้าไชยและนำพระองค์ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ณ วัดโคกพระยา เมื่อชิงราชสมบัติเป็นผลสำเร็จ พระศรีสุธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พร้อมกับทรงแต่งตั้งพระนารายณ์ พระราชนัดดาเป็นพระมหาอุปราช โดยให้เสด็จไปประทับ ณ พระราชวังบวรสถานมงคล  

เหตุแห่งการยึดอำนาจ

หลังจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชสมบัติได้สองเดือนเศษ พระนารายณ์ได้ชิงราชสมบัติจากพระองค์ ซึ่งการช่วงชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาโดยพระนารายณ์นั้นมีการกล่าวไว้ในหลายแง่มุม โดยพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า สมเด็จพระศรีสุธรรมราชามีจิตเสน่หาต่อพระราชกัลยาณี ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระองค์และเป็นพระขนิษฐาของพระนารายณ์ จึงมีรับสั่งให้ไปเฝ้าบนพระที่ แต่พระราชกัลยาณีไม่ได้เสด็จขึ้นไปและได้นำความมาบอกพระนม พระนมจึงเชิญพระราชกัลยาณีซ่อนในตู้พระสมุดแล้วหามออกไปยังพระราชวังบวรสถานมงคลอันเป็นที่ประทับของพระนารายณ์ เมื่อความทราบถึงพระนารายณ์ก็ทรงกริ้วและตรัสว่า
อนิจจา พระเจ้าอา เราคิดว่าสมเด็จพระบิตุราชสวรรคต ยังแต่พระเจ้าอาก็เหมือนพระบรมราชบิดายังอยู่ จะได้ปกป้องพระราชวงศานุวงศ์สืบไป ควรหรือมาเป็นดังนี้ พระองค์ปราศจากหิริโอตัปปะแล้ว ไหนจะครองสมบัติเป็นยุติธรรมเล่า น่าที่จะร้อนอกสมณชีพราหมณ์ อาณาประชาราษฎร ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเป็นแท้ จะละไว้มิได้
เป็นที่เชื่อกันว่า เหตุการณ์เล็กน้อยข้างต้นอาจเป็นเพียงข้ออ้างหนึ่งของพระนารายณ์ที่นำมาใช้ในการชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา  มีหลักฐานของฮอลันดากล่าวถึงการปรึกษาของพระนารายณ์กับพ่อค้าชาวฮอลันดาในการขอความช่วยเหลือเพื่อชิงราชสมบัติมาตั้งแต่แรกที่สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชย์เมื่อเดือนสิงหาคม

สวรรคต

พระนารายณ์ได้รับการสนับสนุนจากพระยาเสนาภิมุข พระยาไชยาสุระและทหารญี่ปุ่น 40 นาย รวมทั้งชาวมุสลิมจากเปอร์เซีย การต่อสู้ยึดอำนาจเกิดขึ้นค่อนข้างรุนแรงในตอนเย็นวันที่ 25 ตุลาคมพ.ศ. 2199 จนถึงเช้าของวันรุ่งขึ้น ไพร่พลของทั้งสองฝ่ายล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ทั้งสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาและพระนารายณ์ต่างได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืน สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาสู้ไม่ได้จึงถอยหนีไปวังหลังแต่ถูกพระนารายณ์จับกุมตัวและนำไปสำเร็จโทษที่วัดโคกพระยา
ในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2199 พระนารายณ์ได้ปราบดาภิเศกขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาซึ่งอยู่ในราชสมบัติได้เพียง 2 เดือน 17 วัน มีพระนามว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราช










สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9

สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 

      สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 หรือ สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ หรือ พระเจ้าท้ายสระ หรือ พระเจ้าภูมินทราชาหรือ พระเจ้าบรรยงก์รัตนาสน์ เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 30 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ที่สามแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2251 - พ.ศ. 2275 

พระราชประวัติ

สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 มีพระนามเดิมว่าเจ้าฟ้าเพชร เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 เมื่อพระราชบิดาสวรรคตในปีพ.ศ. 2252 จึงขึ้นครองราชย์ เฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระภูมินทรมหาราชา โดยพระนามที่เป็นที่รู้จักกันคือพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ แล้วสถาปนาพระบัณฑูรน้อย เจ้าฟ้าพร พระราชอนุชาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล 

สวรรคต

สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2275 รวมระยะเวลาครองราชย์ 23 ปี
ในขณะที่สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 ทรงพระประชวรหนักนั้น พระองค์ตัดสินพระทัยทรงมอบราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้าอภัย แต่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลไม่ทรงยินยอม จึงเกิดเป็นสงครามแย่งชิงราชบัลลังก์ ที่สุดกรมพระราชวังบวรสถานมลคลเป็นฝ่ายชนะ ทรงสำเร็จโทษเจ้าฟ้าอภัย แล้วจึงครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

พระราชกรณียกิจ

ในรัชสมัยของพระองค์ มีการขุดคลองสำคัญอันเป็นเส้นทางคมนาคม คือ "คลองมหาไชย" และ "คลองเกร็ดน้อย" มีการแข่งกันสร้างวัด ระหว่างพระองค์กับพระอนุชา คือ วัดมเหยงค์และวัดกุฏีดาว มีการเคลื่อนย้ายพระนอนองค์ใหญ่ของวัดป่าโมกเพื่อให้พ้นจากการถูกน้ำเซาะตลิ่ง เป็นต้น
ในด้านการต่างประเทศ มีการส่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศจีนถึงสี่ครั้ง ทำให้การค้าขายระหว่างสยามกับจีน ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2244 เกิดความวุ่นวายในประเทศกัมพูชา อันเนื่องจากการแย่งราชสมบัติกันระหว่างนักเสด็จกับนักแก้วฟ้าสะจอง นักเสด็จขอเข้ามาอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ส่วนพระแก้วฟ้านักสะจองผู้เป็นอนุชาฝักใฝ่อยู่กับฝ่ายญวน ซึ่งพยายามแผ่อำนาจเข้าไปในเขมร พระองค์ได้ส่งกองทัพกรุงศรีอยุธยาเข้าไปถึงเมืองอุดงมีชัย ราชธานีของเขมร และได้เกลี้ยกล่อมให้นักแก้วฟ้าสะจองกลับมาอ่อนน้อมต่ออยุธยา เขมรจึงมีฐานะเป็นประเทศราชของอาณาจักรเช่นแต่ก่อน
ในช่วงรัชสมัยนี้ มิชชันนารีคาทอลิกคือมุขนายกหลุยส์ ลาโน ได้พิมพ์เผยแพร่หนังสือชื่อ “ปุจฉาวิสัชนา” มีเนื้อหาเปรียบเทียบศาสนาคริสต์ – ศาสนาพุทธ ชี้ให้เห็นความเหนือกว่าของศาสนาคริสต์ ดูหมิ่นพุทธศาสนา ทันทีหนังสือเล่มนี้ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกก็สร้างความไม่พอใจให้กับราชการไทย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงเรียกบาทหลวง 3 คนขึ้นศาลไต่สวน ที่สุดมีพระราชโองการห้ามไม่ให้ใช้ภาษาไทยในการเผยแพร่ศาสนา ห้ามคนไทย มอญ และลาวเข้ารีตศาสนาคริสต์ และห้ามมิให้มิชชันนารีติเตียนศาสนาของคนไทย มิชชันนารีที่ไม่ปฏิบัติตามจะถูกเฆี่ยนแล้วเนรเทศ

เกร็ดที่น่าสนใจ

  • พระองค์โปรดเสวยปลาตะเพียนมาก โดยออกพระราชกำหนดห้ามราษฎรจับหรือรับประทานปลาตะเพียน หากผู้ใดฝ่าฝืน มีบทลงโทษคือปรับเป็นเงิน 5 ตำลึง หรือ 20 บาท
  • พระราชทานท้องพระโรงแก่สมเด็จพระสังฆราชแตงโม (ทอง) ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของพระองค์โดยล่องเรือจากอยุธยาไปเพชรบุรีแล้วไปสร้างที่วัดใหญ่สุวรรณาราม (วัดสุวรรณาราม บ้างก็เรียกวัดใหญ่) จึงทำให้คงเหลือพระราชวัง ท้องพระโรงที่แสดงถึงศิลปกรรมของอยุธยาที่เหลือรอดจากการเผาของพม่าเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 อยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี







สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม 

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 1 หรือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงธรรม หรือ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงธรรมอันมหาประเสริฐ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 21 แห่งกรุงศรีอยุธยา และเป็นพระองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์สุโขทัย
หลังจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สำเร็จโทษพระมหากษัตริย์องค์ก่อนแล้ว พระศรีศิลป์หรือพระพิมลธรรม หรือพระเจ้าทรงธรรมก็เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติ  

พระราชประวัติ

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีพระนามเดิมว่าพระอินทราชา (แต่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่าพระนามเดิมคือพระศรีสิน) เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเอกาทศรถกับพระสนมชาวบางปะอิน มีพระนามเดิมว่า พระศรีศิลป์ เดิมบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดระฆัง มีความรอบรู้ทางด้านพระไตรปิฎกมาก จนได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรมอนันตปรีชา มีผู้ที่นิยมท่านมาก รวมทั้งจหมื่นศรีสรรักษ์ยังได้ฝากตัวเป็นบุตรบุญธรรมของท่านด้วย
ในแผ่นดินของพระศรีเสาวภาคย์ จหมื่นศรีสรรักษ์และบรรดาลูกศิษย์ของท่านได้ซ่องสุมกันที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ แล้วจึงบุกเข้าไปยังพระราชวังหลวงและจับพระศรีเสาวภาคย์นำไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ แล้วอัญเชิญพระพิมลธรรมอนันตปรีชาให้ลาสิกขาบท ขึ้นเสวยราชสมบัติแห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อปีขาล จุลศักราช 973 (พ.ศ. 2154) ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และทรงแต่งตั้งจหมื่นศรีสรรักษ์เป็นพระมหาอุปราช  
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีพระราชโอรส 3 พระองค์ ได้แก่ พระเชษฐากุมาร พระพันปีศรีศิลป์ และพระอาทิตยวงศ์ ส่วนจดหมายเหตุวันวลิตระบุว่า พระองค์มีพระราชโอรส 9 พระองค์ พระราชธิดา 8 พระองค์
ตอนปลายรัชสมัยของพระองค์ ขณะที่พระองค์ประชวรหนัก มีพระราชประสงค์จะมอบราชสมบัติให้พระราชโอรสองค์ใหญ่ คือ พระเชษฐาธิราชกุมาร โดยทรงมอบให้ออกญาศรีวรวงศ์ จางวางมหาดเล็ก ซึ่งเป็นพระญาติที่ไว้วางพระทัยเป็นผู้ดูแลพระเชษฐาธิราชจนกว่าจะได้ครองราชย์ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมครองราย์ได้ 17 ปี จึงเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2171 ซึ่งเป็นวันที่ชาวฮอลันดาได้บันทึกไว้

พระราชกรณียกิจ

ด้านพระพุทธศาสนา

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงเป็นนักปราชญ์ รอบรู้ในวิชาการหลายด้าน มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงประพฤติราชธรรมอย่างมั่นคง เป็นที่รักใคร่นับถือของบรรดาราษฎรและชาวต่างชาติ พระกรณียกิจส่วนใหญ่ของพระองค์ มุ่งส่งเสริมทำนุบำรุงศาสนาพุทธในด้านต่าง ๆ เช่น โปรดเกล้าฯ ให้คัดลอกพระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับสมบูรณ์เป็นจำนวนมาก ทรงให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งมหาชาติคำหลวงถวาย นับเป็นวรรณคดีชิ้นสำคัญของสมัยอยุธยา ได้มีผู้พบรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสุวรรณบรรพต แขวงเมืองสระบุรี พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างมณฑปครอบรอบพระพุทธบาท พร้อมทั้งสร้างพระอุโบสถ พระวิหารการเปรียญ กับกุฏิสงฆ์ ถวายให้เป็นสมบัติในพระพุทธศาสนา พระพุทธบาทสระบุรีจึงมีความสำคัญ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของพุทธศาสนิกชนตั้งแต่นั้นมาตราบถึงปัจจุบัน

ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

พระองค์ทรงมีสัมพันธ์ไมตรีกับบรรดาต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทย ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองท่าที่สำคัญในภูมิภาคแถบนี้ของโลก ชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะฮอลันดา อังกฤษและญี่ปุ่น ที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ พระองค์ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ริมคลองปลากด เหนือเมืองสมุทรปราการ ให้ชาวฮอลันดาตั้งคลังสินค้า และในปี พ.ศ. 2115 พระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ได้มีพระราชสาส์นทูลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พ่อค้าชาวอังกฤษเข้ามาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยาได้สะดวก ส่วนชาวญี่ปุ่น ปรากฏว่ามีชาวญี่ปุ่นสมัครเข้ารับราชการที่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก จนได้มีการจัดตั้งกรมอาสาญี่ปุ่น ขึ้นมาช่วยราชการกรุงศรีอยุธยา ชาวญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญในวงการเมืองในรัชสมัยของพระองค์ คือ ยะมะดะ นะงะมะซะ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นออกญาเสนาภิมุข

ด้านราชการสงคราม

เนื่องจากพระองค์ไม่นิยมการทำสงคราม ด้วยเหตุนี้กรุงศรีอยุธยาจึงต้องเสียเมืองทวาย อันเป็นเมืองท่าที่สำคัญทางตะวันตกในทะเลอันดามัน พม่ายกกำลังมาตีเมืองทวายได้เมื่อปี พ.ศ. 2165 ต่อมากัมพูชาและแคว้นเชียงใหม่ซึ่งเคยเป็นประเทศราชมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรต่างก็พากันแข็งเมืองไม่ยอมขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา














สมเด็จพระเชษฐาธิราช


สมเด็จพระเชษฐาธิราช         

สมเด็จพระเชษฐาธิราช หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 2 เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมและเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระเอกาทศรถ มีพระอนุชา 2 พระองค์ ได้แก่ พระพันปีศรีศิลป์ และ พระอาทิตยวงศ์
เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเสด็จสวรรคตได้เกิดการชิงราชสมบัติระหว่างพระองค์กับพระพันปีศรีศิลป์ (จดหมายเหตุวันวลิต กล่าวว่า พระศรีศิลป์เป็นพระอนุชาในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม) ฝ่ายพระองค์มีออกญาศรีวรวงศ์กับออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาซะ) เป็นกำลังสำคัญได้จับพระศรีศิลป์ ซึ่งเป็นพระมหาอุปราชสำเร็จโทษ แล้วกราบบังคมทูลเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเชษฐาธิราช ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมพรรษาได้ 15 พรรษา ออกญาศรีวรวงศ์ ได้เลื่อนฐานะเป็น เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์
เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ได้หนึ่งปี แปดเดือน ก็คิดเกรงว่าเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์จะคิดแย่งราชสมบัติ จึงทรงหาทางกำจัดเสีย แต่ความนี้ได้รู้ไปถึงเจ้าพระยากลาโหมเสียก่อนก็ขัดเคือง จึงได้ยกกำลังบุกเข้าไปในวังหลวง พระองค์ไม่ได้คิดต่อสู้แต่หลบหนีไป เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์จึงสั่งให้พระยาเดโชและพระยาท้ายน้ำตามไปทันที่ป่าโมกน้อยแล้วจับสมเด็จพระเชษฐาธิราชมาได้ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์จึงสั่งให้นำพระองค์ไปสำเร็จโทษเสีย เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ได้ทูลเชิญพระอาทิตยวงศ์พระอนุชาในสมเด็จพระเชษฐาธิราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อไป












สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์


สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์                                

      สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หรือ พระเจ้าเอกทัศ  มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าเอกทัศ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 33 พระองค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2301-พ.ศ. 2310 เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 หรือพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศที่ประสูติแต่กรมหลวงพิพิธมนตรี (พระพันวัสสาน้อย) (ต่อมาพระราชมารดาได้รับการสถาปนาเป็น กรมพระเทพามาตย์) โดยพระมารดาของพระองค์สืบเชื้อสายมาจากสกุลพราหมณ์บ้านสมอพลือ ที่มีต้นสกุลมาจากเมืองรามนคร มัชฌิมประเทศ ต่อมาเจ้าฟ้าได้รับการสถาปนาให้ทรงกรมเป็น กรมขุนอนุรักษ์มนตรี    

พระราชประวัติ

การเสด็จขึ้นครองราชย์

ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หนึ่งปีก่อนพระองค์เสด็จสวรรคตนั้น พระองค์ทรงแต่งตั้งให้เจ้าฟ้าดอกเดื่อ ผู้เป็นอนุชาของเจ้าฟ้าเอกทัศ ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตทูลว่า เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี พระเชษฐา ยังคงอยู่ขอพระราชทานให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลน่าจะสมควรกว่า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงตรัสว่า กรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้นโฉดเขลา หาสติปัญญาแลความเพียรมิได้ ถ้าจะให้ดำรงฐานุศักดิ์มหาอุปราชสำเร็จราชกิจกึ่งหนึ่งนั้น บ้านเมืองก็จะเกิดภัยพิบัติฉิบหายเสีย และมีพระราชดำรัสสั่งให้กรมขุนอนุรักษ์มนตรีออกผนวชเสียเพื่อไม่ให้กีดขวางเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
หลังจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคตแล้ว พระเจ้าอุทุมพร เสด็จขึ้นครองราชย์ แต่อีกสองเดือนถัดมา พระองค์กลับมาแสดงพระประสงค์ขึ้นครองราชย์ และเสด็จเข้าประทับ ณ พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ จนทำให้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้น พระเจ้าอุทุมพรทรงยอมสละราชสมบัติและเสด็จออกผนวช ประทับอยู่ที่วัดประดู่ทรงธรรม เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีจึงเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ. 2301                      

สงครามคราวเสียกรุงครั้งที่สอง

ในระหว่างที่พระองค์ครองราชย์ พม่าได้ยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2303 พระเจ้าเอกทัศได้ทรงขอให้พระเจ้าอุทุมพรลาผนวชมาช่วยบัญชาการรบ พระเจ้าอลองพญา พระมหากษัตริย์พม่า ที่ยกทัพมา แต่สวรรคตเสียก่อน
ต่อมาใน พ.ศ. 2307 พระเจ้ามังระ โอรสของพระเจ้าอลองพญา ได้เป็นพระมหากษัตริย์พม่า และส่งกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก ให้เกณฑ์กองทัพกว่า 70,000 นาย ยกเข้าตีเมืองไทย 2 ทาง ทางทิศใต้เข้าตีเข้าทางเมืองมะริด ส่วนทางตอนเหนือตีลงมาจากแคว้นล้านนา และบรรจบกันที่กรุงศรีอยุธยาเป็นศึกขนานกันสองข้างโดยได้ล้อมกรุงศรีอยุธยานาน 1 ปี 2 เดือน ก็เข้าพระนครได้ เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310
ในพงศาวดารฉบับหอแก้วและคองบองของพม่า ได้บรรยายให้เห็นว่าในสงครามครั้งนี้ ผู้ปกครองกรุงศรีอยุธยาเองก็ได้เตรียมการและกระทำการรบอย่างเข้มแข็ง มิได้เหลวไหลอ่อนแอแต่ประการใด

การเสด็จสวรรคต

สาเหตุการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าเอกทัศมีสันนิษฐานไว้หลายข้อ ในหลักฐานของไทยส่วนใหญ่บันทึกไว้ว่าพระองค์เสด็จสวรรคตจากการอดพระกระยาหารเป็นเวลานานกว่า 10 วัน หลังจากที่เสด็จหนีไปซ่อนตัวที่ป่าบ้านจิก ใกล้กับวัดสังฆาวาส ทหารพม่าเชิญเสด็จไปที่ค่ายโพธิ์สามต้น เมื่อเสด็จสวรรคต นายทองสุกได้นำพระบรมศพไปฝังไว้ที่โคกพระเมรุ ตรงหน้าพระวิหารพระมงคลบพิตร ต่อมา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงอัญเชิญพระบรมศพขึ้นถวายพระเพลิงตามโบราณราชประเพณี
ฝ่ายพงศาวดารพม่าระบุว่า เกิดความสับสนระหว่างการหลบหนีในเหตุการณ์กรุงแตก จึงถูกปืนยิงสวรรคตที่ประตูท้ายวัง
ส่วนคำให้การของแอนโทนี โกยาตัน ตำแหน่ง Head of the foreign Europeans เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2311 มีว่า "กษัตริย์องค์ที่สูงวัย [พระเจ้าเอกทัศ] ถูกลอบปลงพระชนม์โดยชาวสยามเช่นเดียวกัน" หรือไม่พระองค์ก็ทรงวางยาพิษตนเอง

พระราชกรณียกิจ

ในทัศนะของสุเนตร ชุตินธรานนท์ มีความเห็นว่า ผู้ชำระพงศาวดารไทยไม่ได้ระบุพระราชกรณียกิจของพระเจ้าเอกทัศ ซ้ำยังกล่าวพาดพิงในแง่ร้ายอยู่บ่อยครั้ง หากแต่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ กลับมีการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์พระองค์นี้อย่างชื่นชม
คำให้การชาวกรุงเก่า ปรากฏความว่า "[พระมหากษัตริย์พระองค์นี้] ทรงพระกรุณากับอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง แผ่เมตตาไปทั่วสารพัดสัตว์ทั้งปวง"
ใน คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ปรากฏความว่า "พระองค์ตั้งอยู่ในธรรมสุจริต บพิตรเสด็จไปถวายนมัสการพระศรีสรรเพชทุกเพลามิได้ขาด พระบาทจงกรมอยู่เป็นนิจ บพิตรตั้งอยู่ในทศพิธสิบประการ แล้วครอบครองกรุงขันธสีมา ทั้งสมณพราหมณ์ก็ชื่นชมยินดีปรีเปนศุขนิราชทุกขไภย ด้วยเมตตาบารมีทั้งฝนก็ดีบริบูรณภูลความศุกมิได้ดาล ทั้งข้าวปลาอาหารและผลไม้มีรสโอชา ฝูงอาณาประชาราษฎร์และชาวนิคมชนบทก็อยู่เยนเกษมสานต์ มีแต่จะชักชวนกันทำบุญให้ทาน และการมโหรสพต่าง ๆ ทั้งนักปราชผู้ยากผู้ดีมีแต่ความศุกที่ทุกขอบขันธสีมา"
นอกจากนี้ จากหลักฐานทั้งสอง ยังได้กล่าวถึงพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระเจ้าเอกทัศ เช่น ทรงออกพระราชบัญญัติเครื่องชั่ง ตวง วัดต่าง ๆ, มาตราเงินบาท สลึง เฟื้องให้เที่ยงตรง และโปรดให้ยกเลิกภาษีอากรต่าง ๆ เป็นเวลา 3 ปี รวมทั้ง "ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา บ้านเมืองสงบ การค้าขายเจริญ ทรงบริจาคทรัพย์ให้แก่คนยากจนจำนวนมาก"

พระราชโอรสธิดา

บัญชีพระนามเจ้านาย ในคำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าพระเจ้าเอกทัศมีพระราชโอรสธิดา 5 พระองค์ ที่ประสูติกรมขุนวิมลพัตร พระอัครมเหสี คือ
  1. เจ้าฟ้าหญิงสิริจันทรเทวี
ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเพ็ง พระสนมเอก มี 2 พระองค์ คือ
  1. พระองค์เจ้าหญิงสตันสรินทร์
  2. พระองค์เจ้าชายประเวศกุมาร
ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแม้น พระสนมเอก มี 2 พระองค์ คือ
  1. พระองค์เจ้าหญิงสูรา (รุจจาเทวี)
  2. พระองค์เจ้าชายสุทัศน์ (กุมารา)
ส่วน บัญชีรายพระนามพระราชวงศ์และข้าราชการสยามที่พม่าว่าจับไปได้จากกรุงศรีอยุธยา เมื่อกรุงเสียในปี พ.ศ. 2310 ระบุรายพระนามเจ้านายว่ามีพระราชชายา 4 พระองค์ และมีพระราชโอรส-ธิดา 7 พระองค์ในสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ถูกจับไปยังพม่า ได้แก่
พระราชชายา
  1. พระนางเมาฬี (หรือเม้า)
  2. หม่อมมิ่ง
  3. หม่อมศรี
  4. หม่อมสิลา

ทัศนะ

ฝ่ายซึ่งเห็นว่าพระองค์มีพระราชประวัติความประพฤติไม่ดีก็ว่า ราษฎรไม่เลื่อมใสศรัทธาเพราะพระมหากษัตริย์ทรงประพฤติตนไม่เหมาะสม บ้านเมืองเกิดความระส่ำระสาย มีข้าราชการลาออกจากราชการอยู่บ้าง สังคมสมัยนั้นมีการกดขี่รีดไถ ข่มเหงรังแกราษฎรอย่างไม่เป็นธรรม เมื่อขุนนางชั้นผู้น้อยเห็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ทำก็เลียนแบบ ราษฎรและข้าราชการทั้งหลายหมดที่พึ่งจึงแตกความสามัคคี ดังที่บาทหลวงฝรั่งเศสได้เขียนจดหมายเหตุบันทึกไว้ว่า: "... บ้านเมืองแปรปรวน เพราะฝ่ายใน [พระราชชายา] ได้มีอำนาจเท่ากับพระเจ้าแผ่นดินผู้มีความผิดฐานกบฏ ฆ่าคนตายเอาไฟเผาบ้านเรือนจะต้องได้รับโทษถึงประหารชีวิต แต่ความโลภของฝ่ายในให้เปลี่ยนเป็นริบทรัพย์สิน ริบได้ก็ตกเป็นของฝ่ายในทั้งสิ้น พวกข้าราชการเห็นความโลภของฝ่ายใน ก็แสวงหาผลประโยชน์กับผู้ต้องหาคดีให้ได้มากที่สุดที่จะหาได้ จะได้แบ่งเอาบ้าง ความเดือดร้อนลำเค็ญก็ยิ่งทับถมราษฎรมากขึ้น..."
ในประวัติศาสตร์ไทย พระเจ้าเอกทัศเป็นพระมหากษัตริย์ที่ถูกกล่าวถึงในแง่ร้ายเรื่อยมา และถูกจดจำในฐานะ "บุคคลที่ไม่มีใครอยากจะตกอยู่ในฐานะเดียวกัน" เหตุเพราะไม่สามารถป้องกันกรุงศรีอยุธยาให้พ้นจากข้าศึก ทั้งนี้ คนไทยที่เหลือรอดมาถึงสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นถือเอาว่า พระองค์ควรรับผิดชอบการเสียกรุงครั้งที่สองร่วมกับพระเจ้าอุทุมพร
ครั้ง พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรหนัก เหตุเพราะช้ำพระราชหฤทัยที่สยามยกดินแดนให้ฝรั่งเศสไป (วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112) โดยทรงพระราชนิพนธ์บทกวีรำพันความทุกข์ร้อน และท้อพระทัยว่าจะถูกนินทาไปตลอดกาล ดังเช่นสองพระมหากษัตริย์ (พระเจ้าอุทุมพรและพระเจ้าเอกทัศ) ผู้ไม่อาจปกป้องกรุงศรีอยุธยาจากศัตรู ในช่วงนั้นก็ทรงพระราชนิพนธ์บทกวีรำพึงถึงความกลัดกลุ้มทุกข์ร้อน ทั้งกลัวว่าจะถูกติฉินนินทาไม่รู้จบสิ้น เหมือนสองกษัตริย์ผู้ไม่สามารถจะปกป้องกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ได้จากข้าศึกศัตรู ความดังนี้















วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2559

อาณาจักรอยุธยา


                                    อาณาจักรอยุธยา                                                       อาณาจักรอยุธยา เป็นอาณาจักรของชนชาติไทยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วง พ.ศ. 1893 ถึง พ.ศ. 2310 มีกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางอำนาจหรือราชธานี อาณาจักรอยุธยานับว่าเจริญรุ่งเรืองจนอาจถือได้ว่าเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองมั่งคั่งที่สุดในภูมิภาคสุวรรณภูมิ ทั้งยังมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับหลายชาติ จนถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการค้าในระดับนานาชาติ เช่น จีน เวียดนาม อินเดีย ญี่ปุ่น เปอร์เซีย รวมทั้งชาติตะวันตก เช่นโปรตุเกส สเปน ดัตช์ (ฮอลันดา) และฝรั่งเศส ซึ่งในช่วงเวลาหนึ่งเคยสามารถขยายอาณาเขตประเทศราชถึงรัฐฉานของพม่า อาณาจักรล้านนามณฑลยูนนาน อาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรขอม และคาบสมุทรมลายูในปัจจุบัน                            

กรุงศรีอยุธยา                                                                                     


กรุงศรีอยุธยาเป็นเกาะซึ่งมีแม่น้ำสามสายล้อมรอบ ได้แก่ แม่น้ำป่าสักทางทิศตะวันออก, แม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตกและทิศใต้ และแม่น้ำลพบุรีทางทิศเหนือ เดิมทีบริเวณนี้ไม่ได้มีสภาพเป็นเกาะ แต่สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงดำริให้ขุดคูเชื่อมแม่น้ำทั้งสามสาย เพื่อให้เป็นปราการธรรมชาติป้องกันข้าศึก ที่ตั้งกรุงศรีอยุธยายังอยู่ห่างจากอ่าวไทยไม่มากนัก ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้ากับชาวต่างประเทศ และอาจถือว่าเป็น "เมืองท่าตอนใน" เนื่องจากเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค มีสินค้ากว่า 40 ชนิดจากสงครามและรัฐบรรณาการ แม้ว่าตัวเมืองจะไม่ติดทะเลก็ตาม
มีการประเมินว่า ราว พ.ศ. 2143 กรุงศรีอยุธยามีประชากรประมาณ 300,000 คน และอาจสูงถึง 1,000,000 คน ราว พ.ศ. 2243  บางครั้งมีผู้เรียกกรุงศรีอยุธยาว่า "เวนิสแห่งตะวันออก"
ปัจจุบันบริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พื้นที่ที่เคยเป็นเมืองหลวงของไทยนั้น คือ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา[9]ตัวนครปัจจุบันถูกตั้งขึ้นใหม่ห่างจากกรุงเก่าไปเพียงไม่กี่กิโลเมตร                                                                                                                                         

ประวัติ

การกำเนิด     

การกำเนิดอาณาจักรอยุธยาที่ได้รับการยอมรับกว้างขวางที่สุดนั้น อธิบายว่า รัฐไทยซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เจริญขึ้นมาจากราชอาณาจักรละโว้ (ซึ่งขณะนั้นอยู่ใต้การควบคุมของขะแมร์) และอาณาจักรสุพรรณภูมิ แหล่งข้อมูลหนึ่งระบุว่า กลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 เพราะภัยโรคระบาดคุกคาม สมเด็จพระเจ้าอู่ทองจึงทรงย้ายราชสำนักลงไปทางใต้ ยังที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงอันอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำเจ้าพระยา บนเกาะที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำ ซึ่งในอดีตเคยเป็นนครท่าเรือเดินทะเล ชื่อ อโยธยา (Ayothaya) หรือ อโยธยาศรีรามเทพนคร นครใหม่นี้ถูกขนานนามว่ากรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา ซึ่งภายหลังมักเรียกว่า กรุงศรีอยุธยา แปลว่า นครที่ไม่อาจทำลายได้
พระบริหารเทพธานี อธิบายว่า ชาวไทยเริ่มตั้งถิ่นฐานบริเวณตอนกลาง และตอนล่างของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 แล้ว ทั้งยังเคยเป็นที่ตั้งของเมืองสังขบุรี อโยธยา เสนาราชนคร และกัมโพชนคร ต่อมา ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 อาณาจักรขอมและสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลง พระเจ้าอู่ทองทรงดำริจะย้ายเมืองและก่อสร้างเมืองขึ้นมาใหม่โดยส่งคณะช่างก่อสร้างไปยังอินเดียและได้ลอกเลียนแบบฝังเมืองอโยธยามาสร้างและสถาปนาให้มีชื่อว่า กรุงศรีอยุธยา
แหล่งข้อมูลอื่นระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอู่ทองเป็นพ่อค้าเชื้อสายจีนที่ร่ำรวยจากเพชรบุรี นครชายฝั่งทางใต้ ผู้ซึ่งย้ายมาแสวงหาโชคลาภในนครอโยธยา ชื่อของนครชี้ถึงอิทธิพลของศาสนาฮินดูในภูมิภาค มีการเชื่อว่า นครแห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับมหากาพย์รามเกียรติ์ ซึ่งดัดแปลงมาจากมหากาพย์รามายณะของฮินดู                      

การขยายอาณาเขต 

เมื่อถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 อยุธยาก็ถูกพิจารณาว่าเป็น ชาติมหาอำนาจแข็งแกร่งที่สุดในอุษาคเนย์แผ่นดินใหญ่ และได้เริ่มครองความเป็นใหญ่โดยเริ่มจากการพิชิตราชอาณาจักรและนครรัฐทางเหนือ อย่างสุโขทัย กำแพงเพชรและพิษณุโลก ก่อนสิ้นสุดคริสต์ศตวรรษที่ 15 อยุธยาโจมตีเมืองพระนคร (อังกอร์) ซึ่งเป็นมหาอำนาจของภูมิภาคในอดีต อิทธิพลของอังกอร์ค่อย ๆ จางหายไปจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และอยุธยากลายมาเป็นมหาอำนาจใหม่แทน
อย่างไรก็ดี ราชอาณาจักรอยุธยามิได้เป็นรัฐที่รวมเป็นหน่วยเดียวกัน หากเป็นการปะติดปะต่อกันของอาณาเขต (principality) ที่ปกครองตนเอง และประเทศราชที่สวามิภักดิ์ต่อพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาภายใต้ปริมณฑลแห่งอำนาจ (Circle of Power) หรือระบบมณฑล (mandala) ดังที่นักวิชาการบางฝ่ายเสนอ อาณาเขตเหล่านี้อาจปกครองโดยพระบรมวงศานุวงศ์กรุงศรีอยุธยา หรือผู้ปกครองท้องถิ่นที่มีกองทัพอิสระของตนเอง ที่มีหน้าที่ให้การสนับสนุนแก่เมืองหลวงยามสงคราม ก็ได้ อย่างไรก็ดี มีหลักฐานว่า บางครั้งที่เกิดการกบฏท้องถิ่นที่นำโดยเจ้าหรือพระมหากษัตริย์ท้องถิ่นขึ้นเพื่อตั้งตนเป็นเอกราช อยุธยาก็จำต้องปราบปราม
ด้วยไร้ซึ่งกฎการสืบราชสันติวงศ์และมโนทัศน์คุณธรรมนิยม (meritocracy) อันรุนแรง ทำให้เมื่อใดก็ตามที่การสืบราชสันติวงศ์เป็นที่พิพาท เจ้าปกครองหัวเมืองหรือผู้สูงศักดิ์ (dignitary) ที่ทรงอำนาจจะอ้างคุณความดีของตนรวบรวมไพร่พลและยกทัพมายังเมืองหลวงเพื่อกดดันตามข้อเรียกร้อง จนลงเอยด้วยรัฐประหารอันนองเลือดหลายครั้ง
ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 อยุธยาแสดงความสนใจในคาบสมุทรมลายู ที่ซึ่งมะละกาเมืองท่าสำคัญ ประชันความเป็นใหญ่ อยุธยาพยายามยกทัพไปตีมะละกาหลายครั้ง แต่ไร้ผล มะละกามีความเข้มแข็งทั้งทางการทูตและทางเศรษฐกิจ ด้วยได้รับการสนับสนุนทางทหารจากราชวงศ์หมิงของจีน ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 แม่ทัพเรือเจิ้งเหอแห่งราชวงศ์หมิง ได้สถาปนาฐานปฏิบัติการแห่งหนึ่งของเขาขึ้นที่มะละกา เป็นเหตุให้จีนไม่อาจยอมสูญเสียตำแหน่งยุทธศาสตร์นี้แก่รัฐอื่น ๆ ภายใต้การคุ้มครองนี้ มะละกาจึงเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นหนึ่งในคู่แข่งทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ของอยุธยา กระทั่งถูกโปรตุเกสพิชิตเมื่อ พ.ศ. 2054

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง

เริ่มตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ราชอาณาจักรอยุธยาถูกราชวงศ์ตองอูโจมตีหลายครั้ง สงครามครั้งแรกคือ สงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ เมื่อ พ.ศ. 2091-92 แต่ล้มเหลว การรุกรานครั้งที่สองของราชวงศ์ตองอู หรือเรียกว่า "สงครามช้างเผือก"สมัยพระมหาจักรพรรดิ เมื่อ พ.ศ. 2106 พระเจ้าบุเรงนองทรงบังคับให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิยอมจำนน พระบรมวงศานุวงศ์ทรงถูกพาไปยังกรุงอังวะ และสมเด็จพระมหิทรา พระราชโอรสองค์โต ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าประเทศราช เมื่อ พ.ศ. 2111 ราชวงศ์ตองอูรุกรานอีกเป็นครั้งที่สาม และสามารถยึดกรุงศรีอยุธยาได้ในปีต่อมา หนนี้พระเจ้าบุเรงนองทรงแต่งตั้งสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเป็นเจ้าประเทศราช                       

การฟื้นตัว             


หลังพระเจ้าบุเรงนองเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2124 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศเอกราชแก่กรุงศรีอยุธยาอีกสามปีให้หลัง อยุธยาต่อสู้ป้องกันการรุกรานของรัฐหงสาวดีหลายครั้ง จนในครั้งสุดท้าย สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงปลงพระชนม์เมงจีสวา (Mingyi Swa) อุปราชาของราชวงศ์ตองอูได้ในสงครามยุทธหัตถีเมื่อ พ.ศ. 2135 จากนั้น อยุธยากลับเป็นฝ่ายบุกบ้าง โดยยึดชายฝั่งตะนาวศรีทั้งหมดขึ้นไปจนถึงเมาะตะมะใน พ.ศ. 2138 และล้านนาใน พ.ศ. 2145 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงถึงกับรุกรานเข้าไปในพม่าลึกถึงตองอูใน พ.ศ. 2143 แต่ทรงถูกขับกลับมา หลังสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2148 ตะนาวศรีตอนเหนือและล้านนาก็ตกเป็นของรัฐอังวะ อีกใน พ.ศ. 2157 อยุธยาพยายามยึดรัฐล้านนาและตะนาวศรีตอนเหนือกลับคืนระหว่าง พ.ศ. 2205-07 แต่ล้มเหลว
การค้าขายกับต่างชาติไม่เพียงแต่ให้อยุธยามีสินค้าฟุ่มเฟือยเท่านั้น แต่ยังได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ ๆ ด้วย กลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 ระหว่างรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อยุธยามีความเจริญรุ่งเรืองมาก แต่ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 อยุธยาค่อย ๆ สูญเสียการควบคุมเหนือหัวเมืองรอบนอก ผู้ว่าราชการท้องถิ่นใช้อำนาจของตนอย่างอิสระ และเริ่มเกิดการกบฏต่อเมืองหลวงขึ้น      

การล่มสลาย


หลังจากยุคสมัยอันนองเลือดแห่งการต่อสู้ของราชวงศ์ กรุงศรีอยุธยาเข้าสู่ "ยุคทอง" สมัยที่ค่อนข้างสงบในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 18 เมื่อศิลปะ วรรณกรรมและการเรียนรู้เฟื่องฟู ยังมีสงครามกับต่างชาติ กรุงศรีอยุธยาสู้รบกับเจ้าเหงียน (Nguyễn Lords) ซึ่งเป็นผู้ปกครองเวียดนามใต้ เพื่อการควบคุมกัมพูชา เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2258 แต่ภัยคุกคามที่ใหญ่กว่ามาจากราชวงศ์อลองพญาซึ่งได้ผนวกรัฐฉานเข้ามาอยู่ในอำนาจ
ช่วง 50 ปีสุดท้ายของราชอาณาจักรมีการสู้รบอันนองเลือดระหว่างเจ้านาย โดยมีพระราชบัลลังก์เป็นเป้าหมายหลัก เกิดการกวาดล้างข้าราชสำนักและแม่ทัพนายกองที่มีความสามารถตามมา สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้าย บังคับให้สมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร พระอนุชา ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ขณะนั้น สละราชสมบัติและขึ้นครองราชย์แทน
พ.ศ. 2303 พระเจ้าอลองพญา ทรงยกทัพรุกรานอาณาจักรอยุธยา หลังจากอยุธยาว่างเว้นศึกภายนอกมานานกว่า 150 ปี จะมีก็เพียงการนำไพร่พลเข้าต่อตีกันเองเพื่อแย่งชิงอำนาจเท่านั้น ซึ่งในขณะนั้น อยุธยาเกิดการแย่งชิงบัลลังก์ระหว่างเจ้าฟ้าเอกทัศกับเจ้าฟ้าอุทุมพร อย่างไรก็ดี พระเจ้าอลองพญาไม่อาจหักเอากรุงศรีอยุธยาได้ในการทัพครั้งนั้น
แต่ใน พ.ศ. 2308 พระเจ้ามังระ พระราชโอรสแห่งพระเจ้าอลองพญา ทรงแบ่งกำลังออกเป็นสองส่วน และเตรียมการกว่าสามปี มุ่งเข้าตีอาณาจักรอยุธยาพร้อมกันทั้งสองด้าน ฝ่ายอยุธยาต้านทานการล้อมของทัพพม่าไว้ได้ 14 เดือน แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งการกองทัพรัฐอังวะได้ เนื่องจากมีกำลังมาก และต้องการทำลายศูนย์อำนาจอย่างอยุธยาลงเพื่อป้องกันการกลับมามีอำนาจ อีกทั้งกองทัพอังวะยังติดศึกกับจีนราชวงศ์ชิงอยู่เนือง ๆ หากปล่อยให้เกิดการสู้รบยืดเยื้อต่อไปอีก ก็จะเป็นภัยแก่อังวะ และมีสงครามไม่จบสิ้น ในที่สุดกองทัพอังวะสามารถหักเข้าพระนครได้ในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310